วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เรือพระราชพิธี

เรือพระราชพิธี

เรือพระราชพิธีนั้น หมายถึง เรือสำหรับใช้ในการประกอบพระราชพิธีชลมารค หรือที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค ถือเป็นพระราชประเพณีดั้งเดิม สืบเนื่องมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็คือ การจัดรูปกระบวนเรือรบในแม่น้ำตามตำราพิชัยสงครามนั่นเอง ซึ่งการรบทางน้ำในสมัยโบราณนั้นส่วนใหญ่รบกันทางทะเลหรือแม่น้ำ ดังนั้น เรือที่ใช้ในการราบการสงครามจึงต้องมีขนาดใหญ่และยาว เพื่อบรรจุพลรบได้คราวละมาก ๆ แต่ถ้าในยามปรกติแล้ว ในหน้าน้ำจะจัดเป็นพระราชพิธีการทอดกฐินตามพระอารามหลวงที่สำคัญ ๆ ที่ตั้งอยู่ริมน้ำ เป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค ส่วนประชาชนธรรมดาก็ถือเป็นประเพณีกำหนดงานเทศกาลแข่งเรือ กระบวนพยุหยาตรา คือ กระบวนพระราชพิธีที่องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น มีกระบวนพิธีซึ่งพิธีหนึ่ง ๆ ก็เป็นเฉพาะการนั้น ๆ ดังนั้น กระบวนพยุหยาตราชลมารค ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ที่จัดเป็นกระบวนโดยทางน้ำ ซึ่งต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ มักจัดขึ้นในโอกาสที่ต้องเสด็จกรีฑาทัพในศึกสงคราม และในโอกาสพระราชพิธี เพื่อเป็นการรวมพลโดยเสด็จครั้งใหญ่ อีกประการหนึ่ง ก็คือ เพื่อเป็นการฝึกพลเรือรบทางน้ำพร้อมไปในการพิธีต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากยามว่างจากสงคราม จะต้องมีการระดมพลเพื่อเตรียมความพร้อมเพรียง และทันต่อการเกิดสงคราม เพราะในสมัยอยุธยานั้น การเตรียมพร้อมด้านกำลังรบ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด กระบวนพยุหยาตรานั้น สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในราว พ.ศ. 2217 รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชพิธีที่เนื่องด้วยเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค คือ
1. พระราชพิธีอาสวยุทธ เป็นพระราชพิธีเกี่ยวกับกระบวนเรือรบ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเทิดพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
2. พระราชพิธีไล่เรือ
3. กระบวนเสด็จพยุหยาตราเพชรพวง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยนี้ได้มีการใช้เรือรบโบราณประกอบพระราชพิธีแห่แหนทูตชาวตะวันตกที่เข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีอย่างมโหฬาร ซึ่งในสมัยรัชการที่ 4 โปรดฯ ให้จัดเรือเหล่านี้ต้อนรับบรรดาทูตานุทูตที่ปากน้ำสมุทรปราการแห่เข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย อย่างไรก็ตามในวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการกล่าวถึงกระบวนพยุหยาตราเพชรพวงในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งอยุธยาที่สำคัญพระราชพิธีหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นการพระราชพิธีเกี่ยวกับการต้อนรับทูตตะวันตกที่เข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีสมัยต่าง ๆ ที่สำคัญคือ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังกล่าวแล้วข้างต้น
4. กระบวนการเสด็จราชดำเนินเลียบพระมหานคร เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชภิเษก โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างเรือรบชนิดต่าง ๆ 67 ลำ เพื่อใช้เป็นเรือรบทางแม่น้ำในการยกทัพไปโจมตีข้าศึกโดยเฉพาะพม่าที่ยังคงสงครามติดพันอยู่ และทรงโปรดฯ ให้ใช้เป็นเรือในการประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ ดังเช่นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น
5. กระบวนเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราชลมารค (รวมทั้งสถลมารค) เพื่อเสด็จนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ในสมัยอยุธยา ดังเช่น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
6. พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เป็นการพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และถือเป็นพระราชพิธีโดยเสด็จพยุหยาตราชลมารคที่สำคัญในสมัยปัจจุบัน เช่น กระบวนพยุหยาตราชลมารคเสด็จถวายผ้าพระกฐินหลวงวัดอรุณราชวรารามในปี พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูู่่่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคกระบวนใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 เป็นต้นมา เหตุที่มีพระราชหฤทัยในการฟื้นฟู ก็ด้วยเสด็จยังโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะโปรดฯ ให้มีการฟื้นฟูการเสด็จระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้น ก็คงไม่เป็นการสิ้นเปลืองอะไรนัก เพราะกำลังคนสามารถใช้ของทหารเรือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายทำขึ้นครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้แรมปี ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น เรือพระราชพิธีต่าง ๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในทางศิลปะเหล่านี้ จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เป็นการรักษาสมบัติอันมีค่าของชาติที่เราได้กระทำมาแล้วแต่กาลก่อน ให้ดำรงคงอยุ่เป็นที่เชิดหน้าของชาติ เป็นการบำรุงขวัญและก่อให้เกิดความภูมิใจของคนไทย และยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวต่างประเทศด้วย

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

เรือนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ประเภทรูปสัตว์ กล่าวคือ เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือ เป็นรูปสัตว์ ต่างๆ ทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในเทพนิยาย เรือรูปสัตว์ปรากฏขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ทรงแก้เรือ แซเป็นเรือไชยและเรือรูปสัตว์ต่างๆ เพื่อจะให้ตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือได้ เรือรูปสัตว์ มาจากตราประจำตำแหน่งของ เสนาบดี เช่น ราชสีห์ คชสีห์ นาค ฯลฯ นอกจากนี้ เรือพระที่นั่งก็มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ตามพระราชลัญจกร เช่น เรือ นครุฑ อย่างพระราชลัญจกร "พระครุฑพ่าห์" หัวเรือแต่เดิมทำเป็นรูปครุฑเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง เรือ พระที่นั่งแห่งพระมหากษัตริย์ผู้อยู่ในฐานะสมมติเทพนั่นเอง ความเป็นมาของเรือนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น มีชื่อเดิม ว่า "มงคลสุบรรณ" พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ ตามที่ปรากฏความในพระ ราชพงศาวดารว่า "ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน"


*เรือแซ เป็นเรือโบราณของไทยซึ่งใช้ในแม่น้ำ เหตุที่ชื่อ "แช่" เข้าใจว่ามาจากคำว่า "เซ" หมายถึง แม่น้ำ เรือชนิดนี้ใช้ในการลำเลียงพล ศาสตรวุธ ยุทโธปกรณ์เสบียงกรัง เป็นเรือที่แล่นค่อนข้างช้า * เรือไชย เป็นเรือที่ใช้ลำเลียงพล ศาสตราวุธ ยุทโธปกรณ์ และเสบียง แล่นเร็ซกว่าเรือแซ *เรือรูปสัตว์ เรือชิดนี้จะทำหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีครุฑ พญานาค เป็นต้น ใต้รูปสัตว์ก็จะมีช่องวางปืนใหญ่ ใช้เป็นเรือปืนด้วย *เรือกราบ มีลักษณะคล้ายเรือไชย แต่แล่นเร็วกว่า

ลักษณะของเรือลำนี้มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 6 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกสีแดง กำลังฝีพาย 65 คน โขนเรือแต่เดิมจำหลักไม้รูปพญาสุบรรณ หรือพญาครุฑยุดนาค เท่านั้น มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ที่หัวเรือ ใต้ตัวครุฑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับเรือมงคลสุบรรณในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้ว่า "เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณมีปืน จ่ารงที่หัวเรือตรงช่วงเท้าของรูปครุฑ มีฝรั่งกำกับปืน ๓3นาย คือ พระยาพิเศษสงคราม หลวงชนะทุกทิศ และหลวง ฤทธิวารี มีจมื่นสรรเพชภักดี และจมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราช และจมื่นไวยวรนารถ อยู่ประจำหน้าพระที่นั่ง ที่บัลลังก์นี้มีเครื่องราชูปโภคทอดไว้ เช่น พระล่วมมณฑป พระแสงดาบต้น กระดานชนวน หม้อลงพระบังคน ธารพระกร พระสุพรรณราช และพระสุพรรณศรี ทั้งยังมีวิชนี เครื่องสุธารสชา ชุดกล้องเข้าใจว่าเป็นกล้องยาสูบ เชิงเทียน พระเต้าน้ำ และพระสุพรรณภาชน์สองชั้น ส่วนนอกบัลลังก์ด้านหน้า ผูกพระแสงปืนดาบศิลาขนาดยาวสิบ คืบประดับลวดลายคร่ำทอง เป็นปืนที่ใช้ลูกปืนขนาดหกบาท พนักงานประจำปืนชื่อพระยาอภัยศรเพลิง หลวงเสน่ห์ ศรวิชิต และหลวงสนิทอาวุธ มีเจ้ากรมพระศุภรัตชื่อหลวงสุนทรภิรมย์ และจางวางพิชัยพลระดม ที่ท้ายที่นั่งนอก ม่านมีมหาดเล็ก 2 คน มีเวรพนักงานพระภูษามาลา เชิญพระกลด 2 คน และมีแพทย์หลวงอีก 1 คน คือ หมอยา ทิพจักร และหมอนวดราชรักษา"
อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามเรือพระที่นั่งที่ต่อใหม่นี้ว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรง สุบรรณ รัชกาลที่ 9" ซึ่งจักปรากฏเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพ และเป็นพระเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน สืบไปชั่วกาลนาน

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรง สุบรรณ รัชกาลที่ 9

เรือดั้งทองขวานฟ้าและเรือดั้งทองบ้าบิ่น

เรือดั้งทองขวานฟ้าและเรือดั้งทองบ้าบิ่น
เรือดั้งทองขวานฟ้า ลักษณะเป็นเรือดั้งทาน้ำมันเกลี้ยงทั้งลำ ยอดดั้งปิดทอง
เรือดั้งทองบ้าบิ่น ลักษณะเป็นเรือดั้งทาน้ำมันเกลี้ยงทั้งลำ ยอดดั้งปิดทอง
สำหรับเรือพระที่นั่งแทบทุกลำจะต้องทอดบัลลังก์บุษบก ทอดบัลลังก์กัญญาหรือพระที่นั่งกง ในส่วนกลางลำเรืออันเป็นที่ประทับ ส่วนบัลลังก์กัญญา มีหลังคาเป็นประทุนรูปคุ้ม มีม่านทอดและที่สำหรับนั่งราบ หรือนั่งห้อยเท้าอย่างเก้าอี้ได้ ส่วนบัลลังก์บุษบก มีฐานสี่เสา หลังคาบุษบกมี 5 ชั้น ปลายยอดมีพุ่มทรงข้าวบิณฑ์และพระที่นั่งกง มีรูปร่างคล้ายเก้าอี้แต่ยกสูง ประดับประดาอย่างงดงาม



เรือดั้งและเรือกราบ

เรือดั้งและเรือกราบ

เรือดั้ง ลักษณะหัวท้ายงอนขึ้น เป็นเรือขุดธรรมดาทาน้ำมัน
เรือกราบ ลักษณะหัวเรือเชิดขึ้นเหนือแนวน้ำ เป็นเรือขุดธรรมดาทาน้ำมัน หมายเลข 14 - 20 รวมประมาณ 40 ลำ

___________________________________________________________________

*เรือดั้ง คือ เรือที่ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนหน้า เพราะคำว่า "ดั้ง" หมายถึง "หน้า" เรือดั้งเป็นเรือที่มีส่วนหัวตั้งสูงงอนขึ้นไปเป็นเรือไม้ก็มี เป็นเรือปิดทองก็มี
*เรือพระที่นั่งกราบ เรือพระที่นั่งลำเล็กสำหรับใช้ถ่ายลำเสด็จเข้าคูคลองเล็ก

เรือดั้งปิดทองทึบ

เรือดั้งปิดทองทึบ



เรือดั้งปิดทองทึบ ลักษณะเป็นเรือขุดธรรมดา แต่ปิดทองทึบทั้งลำ รวม 2 ลำ หมายเลข 21 และ 22 เรียกว่า เรือโขมดยา (เรือตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช)

เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์

เรือเสือทะยานชและเรือเสือคำรณสินธุ์



เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เรือทั้งสองลำนี้ล้วนเป็น *เรือพิฆาต สร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 หัวเรือเขียนสีเป็นรูปเสือ ลำเรือภายนอกทาสีเหลืองลายเสือไม่ลงรักปิดทอง ภายในท้องเรือทาสีแดง ยาว 22.27 เมตร กว้าง 1.74 เมตร ลึก 0.57 เมตร กำลัง 2.45 เมตร ฝีพาย 26 คนนายท้าย 1 คน นายเรือ 2 คน นั่งคฤห์กัญญา 3 คน พลสัญญาณ 1 คน มีปืนบรรจุปากกระบอก 1 กระบอก

_____________________________________________________________________________________

*เรือพิฆาต เป็นเรือรูปสัตว์ที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำหน้าที่นำกระบวนเรือตับแรก เรือพิฆาตแม้จะเป็นเรือรูปสัตว์เช่นเดียวกับเรืออื่น ๆ แต่เป็นเรือรูปสัตว์ชั้นรอง จึงเขียนรูปด้วยสีธรรมดาไม่ปิดทอง

เรืออสุรวายุภักษ์และเรืออสุรปักษี

เรืออสุรวายุภักษ์และเรืออสุรปักษี





เรืออนุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี เรือทั้งสองลำนี้เป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มี รูปหัวเรือเป็นนกหน้ายักษ์ เรืออสุรวายุภักษ์ จะเป็นตัวที่ใส่เสื้อสีม่วงมือและเท้าเป็นสีคราม ส่วนอสุรปักษี จะใส่เสื้อ ข้างหน้าสีม่วง ข้างหลังสีเขียว มือและเท้าเป็นสีเขียว มีความยาวประมาณ 30.00 เมตร กว้าง 2.00 เมตร ฝีพาย 40 คน


วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เรือกระบี่ราญรอนราพณ์และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร

เรือกระบี่ราญรอนราพณ์และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร

เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ และเรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือสองลำนี้หัวเป็นรูปพญาวานรหรือขุนกระบี่ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เป็นขุนกระบี่สีดำ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นขุนกระบี่สีขาว จัดเป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้าง ขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีความยาวประมาณ ๒๖.๘๐ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร ฝีพาย ๓๖ คน

เรือครุฑเหินเห็จหรือเรือครุฑเตร็จไตรจักร

เรือครุฑเหินเห็จหรือเรือครุฑเตร็จไตรจักร


เรือครุฑเหินเห็จและเรือครุฑเตร็งไตรจักร เรือสองลำนี้มีหัวเรือเป็นรูปพญาครุฑยุดนาค จัดเป็นเรือกระบวนเขียนสีลงรักปิดทอง สรางในรัชกาลที่ 1 เรือทั้งสองลำนี้มีความยาวประมาณ 27 เมตร กว้าง 1.90 เมตร ใช้ฝีพาย 34 คน

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เรือเอกชัยเหินหาวหรือเรือเอกชัยหลาวทอง

เรือเอกชัยเหินหาวหรือเรือเอกชัยหลาวทอง



เรือเอกชัยเหินหาวหรือเรือเอกชัยหลาวทอง เรือสองลำนี้เป็น*เรือคู่ชัก ใช้นำหน้าหรือชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ เรือทั้งสองเป็นเรือกระบวนลงรักปิดทอง วาดลายเป็นรูปเหราหรือจระเข้ สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ( พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ) เรือทั้งสองลำมีความยาวประมาณ 27.50 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ใช้ฝีพาย 38 คน

________________________________________________

*เรือคู่ชัก คือ เรือไชยหรือเรือรูปสัตว์ที่ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่ง ซึ่งใหญ่และหนักมาก แต่ในบางครั้งฝีพายไม่เพียงพอ


เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จัดเป็น *เรือพระที่นั่งศรี หัวเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็ก ๆ จำนวนมาก ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 45.50 เมตร กว้าง 3.15 เมตร ลึก 1.11 เมตร กินน้ำลึก 0.46 เมตร กำลัง 3.50 เมตร ใช้ฝีพาย 61 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่ 1 คน

________________________________________________________

*เรือพระที่นั่งศรีลักหลาด เป็นเรือที่มักดาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ ต่อมาเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า "เรือพระที่นั่งศรี" เรือพรที่นั่งชนิดนี้มักมีลวดลายสวยงามตลอดข้างลำเรือใช้สำหรับการเสด็จฯ ลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธี ต่อมาภายหลังได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วยเช่นกัน

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช


เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แทนลำเดิม ซึ่งสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หัวเรือปิดทองประดับกระจกเป็นรูปพระยานาค 7 เศียร จัดเป็น เรือพระที่นั่งกึ่ง ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร ลึก 0.76 เมตร กินลึก 0.31 เมตร กำลัง 3.02 เมตร ฝีพาย 54 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่ 1 คน